แชร์

รู้สึกน้อยใจ..เมื่อถูกพ่อ-แม่พูดเปรียบเทียบกับคนอื่น

อัพเดทล่าสุด: 29 มิ.ย. 2024
116 ผู้เข้าชม

     "เราก็ทำเต็มที่ที่สุด เท่าที่เด็กคนนึงจะทำได้แล้ว แต่ทำไมถึงยังมองว่าเราไม่ดีและเอาไปเปรียบเทียบกับคนอื่น"  คำพูดจากใครหลาย ๆ คนที่มักจะถูกพ่อ-แม่พูดเปรียบเทียบกับคนอื่น

 


     วันนี้คุณหมอเอก นพ.พงศ์พิสุทธิ์ พูนสวัสดิ์พงศ์ จิตแพทย์ ประจำคลินิกจิตเวช Smind Mental Health Clinic ขอนแก่น  จะมาชวนไขข้อสงสัยอาการน้อยใจที่เกิดขึ้น พร้อมกับแนะแนวทางในการจัดการกับอารมณ์ของตนเอง รวมถึงหากเปลี่ยนจากการพูดเปรียบเทียบกับคนอื่น พ่อ-แม่จะสามารถมีแนวทางพูดกับลูก ๆ อย่างไร เพื่อให้ครอบครัวเกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากที่สุด 



                         คุณหมอเอก นพ.พงศ์พิสุทธิ์ พูนสวัสดิ์พงศ์ จิตแพทย์ ประจำคลินิกจิตเวช Smind Mental Health Clinic ขอนแก่น

 


ทำไมเราถึงรู้สึกน้อยใจ เวลาถูกเปรียบเทียบกับใครสักคน ?

     หมอเอก - หากอิงตาม ทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ ของ Maslow ความต้องการของมนุษย์แบ่งได้ตามพีระมิด กล่าวคือ ฐานที่ 1 การกิน การนอน เพศสัมพันธ์ เมื่อความต้องการพื้นฐานนี้ถูกตอบสนอง ความต้องการของเราก็จะขยับขึ้นมาเป็นฐานที่ 2 เรื่องความปลอดภัย เช่น มีเงินพอสำหรับใช้จ่าย มีบ้านสำหรับอยู่อาศัย และฐานที่ 3 การอยากถูกยอมรับจากคนรอบตัว"

     "ดังนั้น การถูกเปรียบเทียบจึงเป็นการบอกทางอ้อมว่าเราด้อย หรือคนที่เปรียบเทียบเราไม่ยอมรับเรา ทำให้ความต้องการในฐานนี้ไม่ถูกตอบสนอง จนนำไปสู่ขั้นของความภาคภูมิใจในตัวเอง และเป้าหมายสูงสุดในชีวิต และหากเป็นมาเรื่อย ๆ ก็จะเริ่มลามลงมาข้างล่างทำให้รู้สึกว่าความมั่นคงในความสัมพันธ์ลดลง หรือไม่ปลอดภัย รู้สึกว่าบ้านไม่ใช่ที่พักใจ บางรายถึงขั้นมีอาการกินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือเครียด


พีระมิด ทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ ของ Maslow

ภาพจาก danmartell



เมื่อถูกเปรียบเทียบ เรามักจะกดดันจากเหตุการณ์นี้ เราจะเปลี่ยนความกดดันนี้เป็นพลังบวกได้อย่างไร?
 
     หมอเอก "ตามทฤษฎีของ Yerkes Dodson เกี่ยวกับศักยภาพและตัวกระตุ้น กล่าวไว้ว่า แรงผลักดันไม่ควรเกิดจากแรงกดดัน การที่เราจะเปลี่ยนแรงกดดันให้กลายเป็นพลังบวกได้ขึ้นอยู่กับพื้นฐานการคิดของแต่ละคนครับว่าถูกฝึกว่าแบบไหน หากถูกฝึกมาให้มองโลกในแง่บวก เคารพตัวเอง คิดว่าตัวเองมีศักยภาพ บางทีมีคนมาคอมเมนท์เรา เราจะรู้สึกว่าเค้าหวังดีและอยากให้เราพัฒนา เราจะสามารถแยกได้อันไหนจริงไม่จริง"

     "แต่หากเด็กคนนั้นถูกกดดันมาเรื่อย ๆ และถูกฝึกให้มองโลกในแง่ลบ หรือถูกพ่อแม่ต่อว่ามาตลอด สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กคนนั้นมีแนวโน้มที่จะมองว่าการถูกตำหนิหรือคอมเมนท์ เป็นเรื่องในเชิงลบทั้งหมด เพราะฉะนั้นอยู่ที่ว่ามุมมองของเราถูกฝึกมาแบบไหน และการเปลี่ยนก็มีหลายปัจจัยด้วยกัน เราต้องพยายามแยกให้ออกว่าอะไรคือแก่นสาระสำคัญที่อยากให้เราปรับปรุงตัว และอะไรคืออารมณ์ เพราะเวลามีคนมาต่อว่าหรือเปรียบเทียบมักจะมีการใส่อารมณ์เข้ามาด้วย บางทีเราสัมผัสได้แต่อารมณ์และต่อต้านคำตำหนินั้น หากเรามองวัตถุประสงค์ออกก็จะดีต่อเราในการนำมาพัฒนาตนเอง "



หากเราถูกกดดันจนรู้สึกทนไม่ไหวแล้ว เราควรบอกกับพ่อ-แม่ไปตรง ๆ เลยมั้ย และควรบอกอย่างไร?

     หมอเอก "จริง ๆ เป็นเรื่องที่ควรบอก แต่วิธีการบอกต้องใช้วิธีการ แบบ I Messege คือ การพูดโดยที่ไม่โจมตีคู่สนทนา เช่น ผม/หนูรู้สึกไม่โอเค ผม/หนูรู้สึกแย่ที่ถูกเปรียบเทียบ และเราไม่ควรพูดว่า ทำไมแม่พูดแบบนี้ แม่ทำให้ผม/หนูรู้สึกแย่ เพราะฉะนั้น การบอกความรู้สึกตัวเองเป็นเรื่องที่ดี เพราะ 1. เรารู้ตัวเองว่าเราเป็นยังไง 2. คนอื่นเข้าใจเรามากขึ้น การพัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัวก็จะง่ายขึ้น"



พ่อ-แม่จะมีการเปลี่ยนวิธีพูดกับลูกอย่างไร โดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับคนอื่น?


     หมอเอก "ควรจะเริ่มต้นจากรูปแบบการสื่อสารเป็นอย่างแรกเลยครับ อาจจะเป็นการตั้งเป้าหมายร่วมกันในครอบครัว หรือบางทีการที่พ่อแม่เปรียบเทียบลูกกับคนอื่น อาจจะเกิดจากปมในใจของพ่อแม่เอง เช่น สมัยเด็กตนเรียนแข่งกับเพื่อนคนนี้ไม่ได้ พอมีลูกและบังเอิญว่าอยู่โรงเรียนเดียวกัน ก็จะเริ่มตั้งความหวังให้ลูกไปแข่งเพื่อกลบปมในใจตนเอง เพราะฉะนั้น ด้านพ่อแม่ควรต้องรู้ก่อนว่าการเปรียบเทียบไม่ใช่เรื่องดี ทำห้ลูกรู้สึกไม่เชื่อใจ รู้สึกแย่ที่พ่อแม่ทำ ต่อมาหากเปลี่ยนการเปรียบเทียบเป็นการตั้งเป้าหมายร่วม โดยเราต้องพูดกับลูกว่าเรามีเป้าหมายแบบนี้ลูกโอเคมั้ย อยากทำรึเปล่า และถ้าลูกอยากทำจะมีวิธีการอย่างไร เพื่อเป็นการรักษาความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวให้ได้มากที่สุด โดยปราศจากความกดดันภายในครอบครัว"


     หลังจากได้อ่านบทสัมภาษณ์คุณหมอเอกแล้ว น้อง ๆ คงจะได้คำตอบแล้วใช่มั้ยคะ ว่าทำไมเราถึงรู้สึกน้อยใจ เมื่อถูกพูดเปรียบเทียบกับผู้อื่น และคุณหมอเอกยังแนะแนวทางในการเปลี่ยนแรงกดดัน เป็นพลังบวกให้กับน้อง ๆ อีกด้วย อย่าลืมนำกลับไปทำตามกันนะคะ ถึงแม้มันอาจจะยากสำหรับบางคนแต่ SMIND Clinic เชื่อว่าทุกคนทำได้ค่ะ บทสัมภาษณ์หน้าคุณหมอเอกจะมาพูดถึงหัวข้อใดอย่าลืมติดตามกันนะค้าา


บทความที่เกี่ยวข้อง
สมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่สามารถรักษาได้ด้วยยา การให้คำปรึกษา และการปรับพฤติกรรม การรักษาที่เหมาะสมจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข
4 ต.ค. 2024
relationship ความสัมพันธ์
ความรัก เปรียบเสมือนดอกไม้ที่งดงามแต่ก็ต้องการการดูแลเอาใจใส่ หากละเลยหรือดูแลไม่ดี ย่อมมีโรยราได้เช่นกันหลายคู่เผชิญปัญหาความสัมพันธ์ที่ทำให้รักสะดุด
4 ต.ค. 2024
เทคนิคลดความคิดเชิงลบ ฟื้นฟูความสัมพันธ์
ความคิดลบ ไม่ใช่แค่ส่งผลต่อตัวเรา แต่ยังเป็นยาพิษร้ายแรง ทำร้ายความสัมพันธ์ได้ไม่รู้ตัว!
4 ต.ค. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy